วัฒนธรรม และ ภูมิปัญญาไทย

วัฒนธรรม และ ภูมิปัญญาไทย

ความหมายของวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย
วัฒนธรรมไทย หมายถึง การประพฤติปฏิบัติที่เป็นแบบแผนของสังคม ซึ่งเกิดจากการสร้างสรรค์ของคนไทยที่คิดขึ้นเพื่อการดำเนินชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคม โดยมีปฏิสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม และมีรูปแบบเป็นที่ยอมรับกันภายในสังคม วัฒนธรรมไทยมีการเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา อันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการเมืองในสังคมไทย

ภูมิปัญญาไทย หมายถึง ความรู้ ความสามารถ ทักษะ ความเชื่อ และพฤติกรรมของคนไทยที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน คนกับสิ่งแวดล้อม และคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ ภูมิปัญญาไทยถือเป็นวิธีการและผลงานที่คนไทยได้ศึกษาเรียนรู้เพื่อความอยู่รอดของบุคคล ชุมชน เพื่อแก้ไขปัญหาในสังคมไทย เป็นความรู้ที่ผ่านการรวบรวม ปรับปรุง และได้ถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง ภูมิปัญญาไทยจึงเป็นสิงที่มีประโยชน์ มีคุณค่า มีเอกลักษณ์ของตนเอง สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของคนไทยและนำมาใช้ในการพัฒนาชีวิตและแก้ไขปัญหาได้ เช่น ความรู้เกี่ยวกับพืชพันธุ์ธัญญาหาร สมุนไพร ผักพื้นบ้าน รู้จักประดิษฐ์เครื่องมือทำมาหากิน และการสร้างที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม เป็นต้น



ปัจจัยที่มีผลต่อการสร้างสรรค์วัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทยที่สำคัญมีดังนี้

1) ปัจจัยทางภูมิศาสตร์ ประเทศไทยมีสภาพภูมิศาสตร์ที่แตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาคและคนในแต่ละพื้นที่ก็ได้สร้างสรรค์วัฒนธรรมและภูมิปัญญาให้สอดคล้องกับท้องถิ่นที่ตนอยู่

2) ปัจจัยทางสังคม สามารถแบ่งออกเป็น 2 ด้าน ดังนี้


2.1) ลักษณะร่วมทางสังคมและวัฒนธรรม ได้แก่ การที่สังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรม ทำให้คนในสังคมมีวิถีชีวิตความเชื่อบางอย่างเหมือนกัน เช่น ความเชื่อเรื่องการนับถือผู้อาวุโส จึงทำให้เกิดพิธีการรดน้ำขอพร ความเชื่อเรื่องเทวดาอารักษ์ เช่น แม่พระคงคา แม่พระธรณี แม่โพสพ รุกขเทวดา ความเชื่อเรื่องผีสางนางไม้ ผีบ้านผีเรือน ทำให้มีประเพณีที่เกี่ยวเนื่องกับอาชีพและความเชื่อ เช่น การทำขวัญข้าว การเล่นเพลงเรือ ประเพณีลอยกระทง
นอกจากนี้ คนไทยส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนาทำให้มีประมีประเพณีทางศาสนาเหมือนกัน แต่อาจมีรายละเอียดแตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น เช่น ประเพณีทำบุญในหลายพื้นที่ที่มีความเป็นเอกลักษณ์ของตน เช่น ประเพณีแห่ปราสาทผึ้งและประเพณีไหลเรือไฟของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประเพณีชักพระของภาคใต้ เป็นต้น


2.2) ลักษณะแตกต่างทางสังคมและวัฒนธรรม สภาพภูมิศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติที่ต่างกัน รวมถึงความเคยชินและการปฏิบัติที่สืบทอดต่อ ๆ กันมา มีผลต่อความแตกต่างในด้านการดำรงชีวิต การสร้างสรรค์วัฒนธรรมและภูมิปัญญา เช่น ภาคกลางและภาคใต้ปลูกข้าวเจ้ามาก ทำให้คนทั้งสองภาคนิยมรับประทานข้าวเจ้า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือปลูกข้าวเหนียวมาก คนทั้งสองภาคนี้จึงนิยมรับประทานข้าวเหนียว และคิดสร้างสรรค์ภาชนะใส่ข้าวเหนียวจากวัสดุธรรมชาติ เรียกว่า "กระติบ" ซึ่งช่วยเก็บกักความร้อนและทำให้ข้าวเหนียวนุ่มอยู่ได้นาน หรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีหนองบึงมาก แต่แหล่งน้ำมักแห้งขอดในฤดูแล้ง ชาวบ้านจึงเรียนรู้ที่จะเก็บสะสมอาหารไว้กินตลอดทั้งปี โดยนำปลานานาชนิดมาทำเป็นปลาร้า ส่วนภาคใต้มีอาหารทะเลมากจึงถนอมอาหารด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น ตากแห้ง ปลาแดดเดียว ปลาเค็ม หรือนำเคยซึ่งเป็นสัตว์ทะเลชนิดหนึ่งมาทำกะปิ
นอกจากนี้ การปลูกบ้านเรือนของผู้คนในแต่ละภาคก็มีความแตกต่างกันตามทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ภาคเหนือมีไม้มาก บ้านเรือนจึงปลูกสร้างด้วยไม้ หรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือใช้ไม้ไผ่เป็นส่วนสำคัญในการปลูกบ้าน ดังนั้น จะเห็นได้ว่าความแตกต่างกันทางภูมิศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้แต่ละพื้นที่มีการดำรงชีวิตต่างกัน